26 มิถุนายน 2023

บทความ

จาก BIM สู่ Digital Twin ตอนที่ 1

BIM กำลังเข้าสู่ยุคใหม่

 

BIM มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้างมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ BIM อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในวงการออกแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการก่อสร้าง ปัจจุบันทักษะการใช้ BIM ในลักษณะการเขียนแบบก่อสร้าง และการสร้าง BIM Model เป็นทักษะที่บัณฑิตปริญญาตรีหลายมหาวิทยาลัยมีเป็นปกติ เจ้าของโครงการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่จะมีการระบุในขอบเขตงาน ให้มีการส่งแบบเป็น BIM File ทั้งในขั้นตอนการออกแบบที่เป็นแบบก่อสร้าง (Construction Document) และที่เป็นแบบเหมือนสร้าง (As-Built Documents)

 

ปัจจุบันขอบเขตงาน เริ่มถูกพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจ และมีรายละเอียดลงลึกไปถึงข้อมูล Database ที่ประกอบใน BIM Model และเริ่มพิจารณาถึง “การจะเอา BIM Model ไปใช้ในการบริหารจัดการสินทรัพย์” หลังจากที่การก่อสร้างเสร็จสิ้นลงแล้ว สินทรัพย์ที่กล่าวถึงดังกล่าวหมายถึง สินทรัพย์ที่เป็น อาคาร สาธารณูปโภค หรือ เมือง ที่สามารถใช้ BIM Model ในการบันทึกข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากอาคารใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของ BIM แล้ว อาคารเดิมขององค์กรก็จะถูกปรับเข้าสู่โลกของ BIM ด้วย หนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการปรับปรุง คือเรื่องของข้อมูลสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะต้องถูกปรับให้เป็น Digital เช่นเดียวกับเรื่องของบัญชี การเงิน และการจัดการ อื่นๆ สิ่งที่ยากคือการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแบบอาคาร หรือแบบสาธารณูปโภคนั้น มีความซับซ้อนและเป็นวิชาการเฉพาะด้านที่ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจึงจะมีความเข้าใจ นอกจากนี้ในสมัยก่อน การเปลี่ยนแปลงข้อมูลของสินทรัพย์เหล่านี้มีน้อยมาก จนเรียกได้ว่าเป็น “สินทรัพย์ถาวร” (ตรงข้ามกับสินทรัพย์หมุนเวียน) แต่ในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์และบริการนั้น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคาร หรือสาธารณูปโภค มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุง ต่อเติม หรือเปลี่ยนการใช้สอยของพื้นที่ การบันทึกข้อมูลของสินทรัพย์ที่เป็นอาคาร หรือสาธารณูปโภคจึงมีความท้าทายอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้เจ้าขององค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มีความต้องการใช้ BIM เพื่อที่จะใช้  BIM Model มาตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าวนี้

BIM กำลังกลายไปเป็น “ฐานข้อมูล” สำหรับ การนำไปใช้ในการบริหารสินทรัพย์ ที่เป็นอาคาร สาธารณูปโภค

แนวโน้มการใช้ BIM Model เพื่อมาเป็น “ข้อมูลกลาง” ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ ที่เป็น อาคาร สาธารณูปโภค หรือเมือง เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากเจ้าของหรือผู้บริหารองค์กร เล็งเห็นประโยชน์ ดังต่อไปนี้

 

  1. ลบกระดาษออกจากการบันทึกแบบ – ในสมัยก่อนการบันทึกแบบก่อสร้างยังเป็นไปในแบบที่เป็นกระดาษขนาดใหญ่ หากใช้ BIM จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ในรูปแบบที่เป็นทั้ง 2D และ 3D รวมถึงข้อมูล Specification และเอกสารประกอบ ที่สามารถเป็น Digital ได้ทั้งหมด
  2. As Built ที่ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขได้อย่างสะดวก – As-Built Document ในยุคก่อนที่เป็นกระดาษ ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขใดๆ ได้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมาบันทึก As-Built เป็น BIM จะทำให้การปรับปรุงแก้ไขเป็นไปได้อย่างสะดวกและมีการบันทึกเส้นทางการแก้ไขที่ชัดเจน สะท้อนแบบกับสภาพอาคารที่ถูกปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ถูกต้อง ตรงกัน และ ทันสมัย
  3. เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นๆ ได้ – โดยสภาวะของความเป็น Database ของ BIM ที่มีข้อมูลในลักษณะที่เป็น Text กับ ตัวเลข ที่เรียกว่า Non-Graphical Information ทำให้การเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลอื่น (Synchronization) เกิดขึ้นได้ และข้อมูลลักษณะอื่น เช่น ชื่อผู้เช่าพื้นที่ หรือ อัตราค่าเช่าของพื้นที่ มักจะเป็นข้อมูลที่อยู่ในระบบบัญชีการเงิน หรือการขาย เมื่อมีการใช้ BIM แล้วข้อมูลเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงตรงมาที่ BIM Model ได้ เพื่อใช้ในการบริหารอาคาร หรือ อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลที่สะท้อนจากทางกายภาพ ที่เรียกว่า Graphical Information ก็สามารถสะท้อนกลับไปยัง ระบบอื่นได้โดยตรง เช่น พื้นที่ขาย หรือ ความสูงของห้อง เป็นต้น ทำให้หมดภาระในการ Update ข้อมูลให้ตรงกัน
  4. สร้างระบบอัตโนมัติได้ – เมื่อทั้งหมดมีความเป็นฐานข้อมูล การสร้างระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยในการทำงาน เช่นระบบการแจ้งเตือน ย่อมทำได้ เช่น การแจ้งเตือนการ ซ่อมบำรุง สะท้อนใน BIM Model ว่าเครื่องจักรเครื่องใดยังไม่ได้ดำเนินการซ่อม ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบสามารถเล็งเห็นตัวเครื่องจักรในตำแหน่งที่ถูกต้องของอาคารได้ทันที เป็นต้น

 

โดยทั้งหมดนี้ จะต้องมี Software ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว และไม่ใช่ Software ที่ใช้ในการ “สร้าง File BIM” หรือ “เขียนแบบ BIM” ต้องเป็น Software ที่นำ BIM File มานำเสนอในรูปของ BIM Model และไปใช้วางเป็นแกนกลางเพื่อเชื่อมโยง ข้อมูลอื่นๆ ของการบริหารจัดการสินทรัพย์ และ นั่นคือการเข้าสู่ยุคของ “Digital Twin”

Digital Twin คือ พัฒนาการของ BIM ในขั้นต่อไป

Digital Twin ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ในโลกเทคโนโลยี แต่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มีการใช้มานานอย่างต่อเนื่อง เช่น การแพทย์ การพลังงาน หรืออากาศยาน เป็นต้น แต่ในอุตสาหกรรม ของอาคาร สาธารณูปโภค หรือ เมืองนั้น เพิ่งเริ่มเป็นตัวตนอย่างชัดเจนไม่กี่ปีมานี้

 

สิ่งสำคัญมากที่ทำให้ข้อมูลสะท้อนความเป็นจริง ใน Digital Twin คือการบันทึกข้อมูลจากหน้างานให้เป็น Real Time โดยการบันทึกดังกล่าวต้องการบันทึกโดยคอมพิวเตอร์เท่านั้น และนั่นคือบทบาทสำคัญของ Internet of Things (IoT) ซึ่งคือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือ ตัวส่งสัญญาณขนาดเล็กที่มีหน้าที่หลัก ได้แก่ การบันทึกข้อมูลเฉพาะเรื่องที่ถูกติดตั้งไว้ เช่น การไหลของน้ำ การใช้งานของเครื่องจักร และส่งรายงานผลการบันทึกดังกล่าวนั้น เข้าสู่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการประมวลผล

 

ในกรณีของ Digital Twin สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็น อาคาร สาธารณูปโภค หรือเมือง จะแสดงผลจาก IoT ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญ เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบน้ำดี น้ำเสีย ระบบรักษาความปลอดภัย หรือ การเคลื่อนที่ของคน เป็นต้น มาบันทึกในตำแหน่งของ BIM Model แล้วนำไปประมวลผลโดยใช้ Data Analytics เพื่อนำข้อมูลไปใช้ 

 

การนำ BIM มาเป็นแกนกลางในการเชื่อมกับ ฐานข้อมูลอื่นๆ หรือ Data ลักษณะอื่นๆ เพื่อสะท้อนภาพความเป็นจริงของ สินทรัพย์ ที่เป็นอาคาร หรือ สาธารณูปโภค หรือเมือง ให้ถูกต้องตรงกันตลอดเวลา คือหลักคิดของ Digital Twin และต้องมี Software ที่นำ BIM Model ไปวางไว้ ณ แกนกลาง เพื่อเชื่อมข้อมูลอื่นๆ เข้าหากัน

 

การใช้ Digital Twin บนพื้นฐานของ BIM จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ได้แก่

 

  1. ลดคนทำงาน – การทำงานในลักษณะของ Preventive Maintenance ที่ยึดตาม Schedule และต้องให้คนไปเดินตรวจ และเปลี่ยนอุปกรณ์ตามเวลา จะเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของ Condition Maintenance เนื่องจากการรายงานข้อมูลของเครื่องจักรสำคัญ จะถูกส่งเข้ามาตลอดเวลา และมีการประมวลผลอัตโนมัติ ทำให้เมื่อเครื่องจัก “ใกล้เสียหาย” ก็ค่อยส่งคนไปดำเนินการได้ และสามารถส่งคนที่ไม่เคยรู้จักอาคารสถานที่ดังกล่าวมาก่อนเข้าไปได้ เพราะ BIM Model จะเป็นเครื่องนำทางให้ไปสู่ตำแหน่งนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน
  2. ข้อมูลที่มาอย่างทันท่วงที – ข้อมูลที่มาอย่างทันท่วงทีมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเวลาที่อาคาร หรือสาธารณูปโภคประสบเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบ Digital Twin ที่รายงานเพลิงไหม้ รายงานสถานการณ์น้ำท่วม หรือรายงานการอพยพได้อย่างตรงตามความเป็นจริงจะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก ลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
  3. วิเคราะห์เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ – ข้อมูลที่ถูกบันทึกอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ นำมาประมวลผลและวิเคราะห์ จะทำให้เกิดการค้นพบสำคัญ เช่น การประหยัดพลังงาน การจัดการเส้นทางการเดิน หรือโอกาสทางการค้าอื่นๆ ที่เจ้าของสามารถเล็งเห็นได้

 

 

ที่มา : bimspaces.com

Share this article :

เว็บไซต์มีการเก็บคุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว